ที่มา การประชุมวิชาการ 
เรื่อง ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาตำราและผลงานวิชาการที่ได้คุณภาพ
ผู้จัด วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี
สถานที่ ณ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช   
วันที่  ๑๗ - ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘   

ผู้สรุปประเด็นความรู้ นางจารุวรรณ สนองญาติ

หลักการพัฒนาทักษะการเขียน
    ๑. ทักษะการเขียนเกิดจากการฝึกฝนและจะต้องทำอย่างมีระบบ คือ
            ๑.๑ ต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
            ๑.๒ ต้องใช้เวลาฝึกนานพอควรจึงจะเกิดความชำนาญ
           ๑.๓ ต้องฝึกให้ถูกวิธีและถูกหลักเกณฑ์
                        ๑.๓.๑ ต้องสะกดคำให้ถูก เรียบเรียงถ้อยคำคำให้สื่อความหมาย ได้ชัดเจนและรู้จักการแบ่งวรรคตอนให้ถูกต้อง
                        ๑.๓.๒ ต้องรู้จักเทคนิคเฉพาะในการเขียนเรื่องประเภทต่างๆ เช่น การเขียนเรียงความ บทความ ทั้งในแง่วัตถุประสงค์และเทคนิคการเขียน
    ๒.  รู้จักแสดงออกโดยเขียนเรียบเรียงความรู้และความรู้สึกนึกคิดออกมาอย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตรงตามที่ต้องการ
    ๓.  การเขียนเป็นการใช้ภาษา ซึ่งต้องอาศัยการสั่งสมความรู้ความคิดจาการอ่านและการฟัง ถ้าฟังมากอ่านมากจะทำให้ผู้เขียนมีความรู้ เกิดความคิดกว้างไกล สามารถนำไปใช้ในการเขียนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
    ๔. การเขียนเป็นหลักฐานที่ผู้อื่นสามารถอ่านและนำไปอ้างอิงได้ ดังนั้น จึงควรเขียนด้วยความระมัดระวัง และต้องรู้จักการสรรหาถ้อยคำมาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม
    ๕. งานเขียนจะมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อ ทำให้ผู้อ่านพัฒนาความรู้ความคิดและอารมณ์ งานเขียนที่มีคุณค่าประกอบด้วย
              ๕.๑ ให้ความรู้แก่ผู้อ่าน
              ๕.๒ ให้ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีงามแก่ผู้อ่านอย่างมีเหตุมีผล
              ๕.๓ ให้ผู้อ่านมีพัฒนาการทางอารมณ์และความรู้สึกไปในทางที่ดี
    ๖.  งานเขียนจะต้องคำนึงถึงระดับความรู้ ความคิด และสติปัญญาของผู้อ่าน จึงควรระมัดระวังเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษา การเสนอความรู้และความคิดที่ผู้อ่านอาจไม่มีพื้นฐานในเรื่องนั้นๆ

วิธีช่วยทำให้งานเขียนได้ผลดี
                การเขียนเป็นศิลปะที่ต้องใช้ความประณีตอย่างสูง ผู้ที่จะเขียนได้ดีต้องอาศัยคุณสมบัติที่มีอยู่อย่างสุดความสามารถ การที่จะสั่งสมหรือได้มาซึ่งคุณสมบัติของผู้เขียนที่ดีนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นผู้ที่รักการเขียนต้องพยายามศึกษาหาวิธีการมาช่วยให้การเขียนของตนประสบสำเร็จ วิธีที่จะช่วยให้การเขียนประสบผลสำเร็จพอสรุปได้ ๖ วิธี คือ
    ๑.       การอ่านหนังสือเป็น หนังสือเป็นแหล่งความรู้ที่ดีที่สุดของผู้ที่รักงานเขียน หนังสือแต่ละประเภทมีเนื้อหาสาระแตกต่างกัน บางเรื่องมีประโยชน์มาก บางเรื่องมีประโยชน์น้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้เขียนว่าจะเลือกอ่านหนังสือประเภทใดและอ่านอย่างไร คือจะต้องอ่านอย่างมีวิจารณญาณ จึงจะเกิดผลสูงสุดสำหรับผู้อ่าน เพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเขียน
    ๒.     รู้จักสังเกตและจดจำ ในขณะที่อ่านหนังสือควรรู้จักสังเกตและจดบันทึกไว้ว่าตอนใดจะมีแระโยชน์ต่อการเขียน เพื่อจะได้นำไปใช้ประกอบหรืออ้างอิงในการเขียนของตนต่อไป และอาจเห็นข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดที่คิดว่าไม่น่าจะนำไปเป็นแนวทางในการเขียน
    ๓.      เกิดความคิดกว้างไกล เมื่อผู้เขียนได้หนังสือมาก โดยอ่านอย่างมีวิจารณญาณ รู้จักการสังเกตจดจำ จะทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการหลากหลายและกว้างไกลอันจะเป็นผลทำให้เกิดงานเขียนที่มีความแปลกใหม่อยู่เสมอ
    ๔.      ฝึกเขียนบ่อยๆ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การเขียนเป็นวิชาทักษะที่จะต้องอาศัยการฝึกฝนอยู่เสมอๆ ดังนั้นถ้าเขียนบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดพัฒนาการที่ดีในการเขียน
    ๕.     จะต้องรู้จักการสะสมคำต่างๆ  เพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่องานเขียน ทำให้งานเขียนน่าอ่านยิ่งขึ้น
    ๖.      จะต้องรู้จักการนำประสบการณ์ที่สั่งสมไปใช้  การสะสมประสบการณ์จากการอ่าน การฟัง การสัมภาษณ์ การที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมสัมมนา เป็นต้น มาเป็นข้อมูลอ้างอิงและนำมาเสริมงานเขียนนั้นให้น่าสนใจ