บันทึกผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

การตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ

ประจำปีการศึกษา 2557

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี

วันที่ 21พฤษภาคม 2558

รายนามผู้ร่วมเรียนรู้

         

1 นางสาวศิริพร ชุดเจือจีน         รองผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนาคุณภาพ
2 นางจารุวรรณ สนองญาติ  
3 นางสาวปวิดา   โพธิ์ทอง  
4 นางสาวศริณธร มังคะมณี  
5 นางสาวลักขณา  ศิรถิรกุล  
6 นางสาวสุพรรณี เปี้ยวนาลาว  
7 นางเพ็ญรุ่งวรรณดี  
8 นางสาวขวัญฤทัย พันธุ  
9 นางวาสนา หลวงพิทักษ์  
10 นางสาวสาวิตรี แก้วน่าน  
11 นางสาวอุมากร ใจยั่งยืน  
12 นางสาวสุพัตรา จันทร์สุวรรณ ผู้บันทึก
13 นางสาวจิราภรณ์   รอดสถิตย์ ผู้ช่วยบันทึก

สรุปสาระการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

            จากการฟังการบรรยายของอาจารย์ปรางทิพย์ ทาเสนาะ เอสเทอร์ ว่าอาจารย์จะทำอย่างไรให้ได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ และอาจารย์ในวิทยาลัยมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พบว่าการผลิตผลงาน

แต่ละชิ้นเพื่อการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ อาจารย์ต้องใช้ความอุสาหะ คิด อ่าน ตรวจสอบอย่างรอบคอบก่อนที่จะส่งวารสารไปตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ซึ่งวารสารต่างๆมีระเบียบวิธีการขั้นตอนการกลั่นกรองต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความนั้นๆ มีประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการของแต่ละสาขาและเหมาะสมที่จะเผยแพร่ต่อไป

            เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ทำให้การตีพิมพ์ทางออนไลน์เป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว ประกอบกับคงามต้องการการตีพิมพ์ผลงานวิชาการเพิ่มมากขึ้น ทำให้สำนักพิมพ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนไม่สามารถควบคุมหรือตรวจสอบคุณภาพของสำนักพิมพ์หรือวารสารนั้นๆได้ เกิดเป็นช่องว่างของสำนักพิมพ์ที่เรียกว่า “สำนักพิมพ์แบบเปิดที่เป็นนักล่า” (Predatory Open Access Publishers) ซึ่งเปิดให้การบริการตีพิมพ์ผลงานวิชาการโดยมุ่งหวังผลตอบแทนทางการเงินมากกว่าการเผยแพร่ผลงานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อวิชาชีพและสังคม

            จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวารสารที่ใช้ตีพิมพ์อยู่ใน Beall’s List

            1. ผลงานไม่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ ไม่สามารถนำไปใช้ในการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ การพิจารณาทุนวิจัย การพิจารณารางวัลด้านการวิจัย และการสมัครเข้ารับตำแหน่งในบางกรณีได้

            2. ตกเป็นเครื่องมือของเหยื่อของสำนัดพิมพ์ที่หาประโยชน์จากความต้องการตีพิมพ์ของนักวิจัย

            3. ขาดโอกาสในการปรับปรุงตนเอง

            4. ระบบการศึกษาไม่พัฒนา เนื่องจากการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเป็นเงื่อนไขในการสำเร็จการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา แต่บัณฑิตกลับไปตีพิมพ์ผลงานในวารสารที่ไม่ได้มาตรฐาน

            การคัดเลือกวารสารทางวิชาการสำหรับการตีพิมพ์ผลงานวิจัย จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอาจารย์ เพื่อจะได้ทราบกลยุทธ์ในการสืบค้นวารสาร แนวทางการประเมินคุณภาพของวารสาร และการพิจารณาคัดเลือกวารสารระดับนานาชาติ เพื่อเตรียมต้นฉบับและจัดส่งตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยของตนเองได้อย่างเหมาะสม

            แนวทางการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ

            1. ทบทวนการใช้วารสาร โดยพิจารณาจากวารสารที่เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ มีการใช้บ่อยเป็นประจำ ในการติดตามการพัฒนาหรือความก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการในสาขาวิชานั้น ๆ

            2.พิจารณาขอบเขตเนื้อหาของวารสารต่อความสนใจของผู้อ่านหากกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้อ่านหรือผู้ใช้วารสารในวงกว้าง บทความเข้าถึงง่าย ใช้ศัพท์เฉพาะสาขาไม่มากเข้าใจง่าย ให้เลือกวารสารที่มุ่งเน้นขอบเขตเนื้อหาแนวกว้างเป็นสากล

            3.หากกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มหรือสาขาวิชาบทความใช้ศัพท์เฉพาะสาขามากให้เลือกวารสารที่มุ่งเน้นเฉพาะทางสาขา โดยอาจเข้าไปดูเป้าหมายและขอบเขตเนื้อหา (aim and scope) ในเว็บไซต์ของวารสารนั้นทบทวนจากวารสารฉบับเก่า เพื่อประเมินขอบเขตเนื้อหาของวารสาร หรือตรวจสอบจากฐานข้อมูลอ้างอิง เช่น web of science ซึ่งเป็นฐานข้อมูลบรรณานุกรมและสาระสังเขป (Citation Database) เพื่อการค้นคว้าและการอ้างอิงสามารถเชื่อมโยงไปยังบทความหรือผลงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการ (Related Records) จากผลการสืบค้นที่ได้

            4.การประเมินคุณภาพวารสารจาก Impact และ Ranking ซึ่งเป็นค่าบ่งชี้ถึงคุณภาพของวารสารนั้น ๆ ตัวอย่างค่าชี้วัดที่เป็นเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพวารสาร

            - ค่า IF (Impact Factor, IF) คือ ค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของการอ้างอิงต่อบทความในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่กำหนด ถ้า IF สูง แสดงว่าบทความในวารสารนั้นมีการถูกอ้างอิงบ่อยครั้ง บทความส่วนใหญ่ของวารสารนั้นมีผลกระทบต่อวงการวิชาการสูงค่า IF จึงเป็นเครื่องมือช่วยในการเปรียบเทียบและจัดอันดับวารสาร เหมาะสำหรับนักวิจัยในการคัดเลือกวารสารที่เหมาะสมเพื่อการตีพิมพ์ แต่ถ้าจะนำมาใช้เพื่อประเมินคุณภาพของบทความวิจัย ควรพิจารณาจำนวนการอ้างอิงของบทความนั้นด้วย

            - ค่า h index (highly-cited index หรือ Hirsch index) คือ ดัชนีในการประเมินคุณภาพผลงานตีพิมพ์ในวารสารเป็นค่าตัวเลขที่แสดงจำนวนผลงานวิจัยที่มีจำนวนครั้งของการอ้างอิงเท่ากับหรือมากกว่าจำ นวนผลงานวิจัยนั้นๆ เช่น ค่า h index = 10 หมายความว่ามีผลงานวิจัยจำนวน 10 บทความ (จากจำนวนทั้งหมด) ที่ได้รับการอ้างอิง 10 ครั้งหรือมากกว่าเป็นต้น

            - จำนวนบทความที่ตีพิมพ์ในแต่ละปี

            - การประเมินช่วงอายุเฉลี่ยของการใช้วารสาร (Cited Half Life)

            ตัวอย่างเครื่องมือที่ช่วยในการประเมิน ได้แก่

                   - Journal Citation Reports

                   - Web of Science

                   - SC Imago

                   - Scopus Journal Analyzer

                   - Eigen FACTOR

            4. สถานะการมีอยู่ของวารสาร (Index) อยู่ในฐานข้อมูลวารสารอ้างอิงที่สำคัญ (Citation Databases) ใช้เพื่อประเมินคุณภาพของวารสาร โดยการตรวจสอบสถานะ Index และ ระยะเวลาที่ index ในฐานข้อมูลวารสารอ้างอิงที่สำคัญและเป็นที่ยอมรับกันในวงการศึกษาวิจัย เช่น PubMed, Science Direct, SciFinder, Scopus, Web of science และ Google Scholar เป็นต้น

            5. ข้อมูลเกี่ยวกับวารสาร ที่สำคัญได้แก่

                   - จำนวนปีที่ตีพิมพ์

                   - จำนวนการยืมสำหรับวารสารตัวเล่ม หรือการ Download วารสาร/ e journals

                   - ภาษาต้นฉบับที่ตีพิมพ์ ความถี่ของการตีพิมพ์

                   - รูปแบบการตีพิมพ์ เช่น แบบอิเล็กทรอนิกส์หรือตัวเล่ม (print)

            6. Acceptance/Rejection Rates ใช้เป็นตัวชี้วัดถึงโอกาสที่จะได้ตีพิมพ์ในวารสารนั้น ซึ่งวารสารเฉพาะสาขามีแนวโน้มว่าจะมีอัตราต่ำกว่าวารสารทั่วไป

            7. สถานะของวารสารที่มีคณะกรรมการกลั่นกรองผลงานก่อนการตีพิมพ์ เป็นวารสารมีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ (peerreviewer) ที่พิจารณาคุณภาพบทความที่ครอบคลุมสาขาวิชาหรือกลุ่มสาขาวิชาตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกหน่วยงานที่จัดทำวารสารอยู่ในรายชื่อด้วย ซึ่งจะช่วยคัดกรองเรื่องคุณภาพของวารสารได้เป็นอย่างดี

            8. ระยะเวลาของกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Review Process) ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของวารสาร โดยปัจจัยที่ควรพิจารณาได้แก่

                   - ระยะเวลาเฉลี่ยในการส่งบทความตีพิมพ์ (submit)

                   - ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่ส่งบทความถึงการตอบรับ/ปฏิเสธการตีพิมพ์

                   - การแจ้งถึงผู้เขียนว่าบทความได้รับการตอบรับและเมื่อตอบรับแล้วใช้เวลานานเท่าใด บทความดังกล่าวจึงได้ตีพิมพ์

                   - ความถี่ในการตีพิมพ์ (issue per year) และขั้นตอนการ review เช่น วารสารที่ตีพิมพ์ 3 เดือนครั้ง น่าจะมีแนวโน้มใช้เวลานานกว่าวารสารที่ตีพิมพ์ทุกเดือน

            9. ชื่อเสียงของสำนักพิมพ์ วารสาร บรรณาธิการ และบอร์ดบรรณาธิการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของวารสาร

            10. ประเภทของต้นฉบับ (Manuscript) วารสารบางฉบับเลือกรับบทความต้นฉบับเฉพาะบางประเภทเท่านั้น เช่นreview article ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของวารสารนั้น ๆ

            11. ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เช่น ค่า review บทความ ค่าดำเนินการต่าง ๆ เช่น ภาพสี สื่อประสมอื่น ๆ ค่าจัดทำบรรณานุกรม ค่าเปิดให้บทความสามารถเข้าถึงหรืออ่านได้ฟรี (Open access) และค่าใช้จ่ายการตีพิมพ์วารสารประเภทOpen access เป็นต้น

            12. สิทธิในบทความ (Rights for author) เช่น

                   - บางวารสารให้สิทธิผู้เขียนบทความในการเผยแพร่หรือนำ ไปใช้ใหม่หลังจากได้รับการตีพิมพ์แล้ว

                   - อนุญาตให้เผยแพร่เฉพาะบางเวอร์ชั่นของบทความ เช่น เวอร์ชั่นที่ผ่านขั้นตอน peer review หรือเวอร์ชั่นสมบูรณ์ท้ายสุด (final version) ในเว็ปไซต์ของสถาบัน

                   - อนุญาตให้ใช้รูปภาพ กราฟ หรือตารางในบทความไปใช้ในหนังสือ เป็นต้น