ที่มา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาตำราทางการพยาบาล
เรื่อง แนวทางการวิพากษ์ตำรา
ผู้จัด วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
สถานที่ ณ วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
วันที่ ระหว่างวันที่11 - 12 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2557 
ผู้สรุปประเด็นความรู้ 1.นางสุดารัตน์ วุฒิศักดิ์ไพศาล 2.นางสุนทรี ขะชาตย์ 3.นางสาวสินีพร ยืนยง


เรื่อง แนวทางการวิพากษ์ตำรา
1. ความถูกต้องและความทันสมัยของเนื้อหา
หมายถึง เนื้อหาถูกต้องตามหลักวิชาการของศาสตร์ในสาขาวิชานั้นๆและความถูกต้องนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าถูกต้องในปัจจุบัน สิ่งที่ควรพิจารณาเช่นทฤษฎี สูตร การตีความหมาย หลักฐานอ้างอิง (ยกเว้นการเสนอกฎ หรือทฤษฎี แนวคิดใหม่)
2. ความสมบูรณ์และความลึก
หมายถึง ความครบถ้วนของเนื้อหาหรือเรื่องราวที่ถือเป็นขอบข่ายของชื่อตำรา/หนังสือ แต่ละบทแต่ละตอน ประกอบด้วยรายละเอียดซึ่งเป็นหลักวิชาการของศาสตร์ในสาขานั้นๆ มีคำอธิบายและตัวอย่างเพื่อขยายหลักวิชาการอย่างละเอียดและถี่ถ้วน ควรมีส่วนประกอบที่สำคัญของตำราหรือหนังสือ เช่น คำนำ สารบัญ ตาราง บัญชีภาพหรือแผนภูมิประกอบฯลฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การอ่าน การค้นหาในโอกาสต่อไป
3. การจัดเรียงลำดับเนื้อหา
หมายถึง ลำดับขั้นตอนในการเสนอเรื่องราวที่จะสอนเพื่อเข้าใจง่ายของผู้เรียน หรือผู้อ่าน
4. รูปแบบในการเขียน
หมายถึง ในแต่ละเรื่องที่เขียนระบุความคิดรวบยอดของเรื่องชัดเจนและมีการอธิบายขยายความ
รวบยอดนั้นๆ ในลักษณะสามารถสื่อความหมายได้ดีพอสมควรอาจมีภาพ แผนภูมิ ตาราง ฯลฯ ประกอบเพื่อความเข้าใจและให้น่าสนใจ มีความประณีตในการจัดวรรคตอนและช่องไฟ มีการอ้างอิงแหล่งวิชาการในที่ที่ควรอ้างอิง มีแบบแผนในการเขียนอ้างอิงจัดทำบรรณานุกรมและภาคผนวกไว้อย่างเหมาะสม
5. การศึกษาค้นคว้าเพื่อสนับสนุนการเขียนตำรา / หนังสือ
หมายถึง ปริมาณการศึกษาค้นคว้าตำรา เอกสาร และ/หรือรายงานการวิจัยที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในรายวิชานั้นๆหรือให้ผู้อ่านได้มีความรู้และสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้อย่างกว้างขวาง
6. ความเหมาะสมและความถูกต้องในการใช้ภาษา
หมายถึง การใช้ภาษาในการเขียนเป็นแบบแผนของภาษาไทย ใช้ศัพท์บัญญัติ ศัพท์ทางเทคนิค รวมทั้งตัวสะกด การันต์ ถูกต้อง
7. การเสนอแนวคิดของตนเอง
หมายถึง การสอดแทรกความคิด ความเห็นเพิ่มเติมในตอนต่างๆของเรื่อง อาจจะเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ คำสรุป ข้อเสนอแนะ การประยุกต์เนื้อหาสาระต่างๆ รวมทั้งแนวคิดและความรู้ใหม่ที่เกิดจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์
8. คุณค่าของตำรา / หนังสือ
หมายถึง ประโยชน์ความสำคัญและความเชื่อถือได้ ในการที่ตำรา / หนังสือไปใช้ประกอบการสอนหรือใช้สื่อการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และใช้อ้างอิง